วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การบริหารจิต


   
 
การบริหารจิต
                กายกับจิตอาศัยซึ่งกันและกัน โรคทางกายหลายอย่างเกิดจากภาวะทางจิต เช่น ความดันเลือดสูง แผลในกระเพาะอาหาร ไขมันเลือดสูง หลอดเลือดหัวใจอุดตัน ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรือแม้การเกิดโรคติดเชื้อ และการเกิดมะเร็งบางชนิด เป็นต้น

                ถ้าสามารถรักษาจิตให้สะอาด สว่าง และสงบได้มากเท่าใด ยิ่งทำให้สุขภาพดี ทำงานได้มาก และมีความสุขขึ้นเท่านั้น มนุษย์ตามปกติจะมีเรื่องหงุดหงิด กลัดกลุ้ม โกรธ กังวลเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นประจำวันไปจนถึงเรื่องกระทบกระเทือนอารมณ์รุนแรงเป็นครั้งคราว ภาวะจิตที่ไม่พึงปรารถนาหรือที่เรียกว่า อนิฏฐารมณ์เหล่านี้เกิดได้มากน้อยแตกต่างกันในแต่ละบุคคลและในเรื่องต่าง ๆ เช่น เรื่องจุกจิกในครอบครัว การงานไม่เป็นที่พอใจ ไม่ถูกกับเพื่อนร่วมงาน สิ่งแวดล้อม เช่น เสียงและ ดินฟ้าอากาศไม่ถูกอารมณ์ ปัญหาเรื่องค่าครองชีพเป็นเรื่องที่บีบรัดจิตใจของคนส่วนมากเพิ่มขึ้นทุกๆวัน

                ถ้าจิตเดือดร้อนเพราะปัญหาต่าง ๆ มาก ย่อมเสียเวลาไม่มีกำลัง และไม่เกิดปัญญาที่จะแก้ไขปัญหาได้เท่าที่ควร หากได้รับการบริหารเป็นประจำ จิตจะตั้งมั่น มีความสุข มีกำลังและเกิดปัญญา เราเกิดมามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราว หากต้องเดือดร้อนกลัดกลุ้ม หงุดหงิด กังวลเพราะเรื่องต่าง ๆ ซึ่งเป็นธรรมชาติของโลกไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะตาย ย่อมเป็นชีวิตที่ขาดทุนและน่าเสียดาย เรียกว่าเกิดมาเพื่อมีทุกข์

การบริหารจิตมีทั้งทางด้านป้องกันและด้านส่งเสริมหลายระดับ ดังต่อไปนี้

                ๑. การประกอบอาชีพโดยสุจริต การกล่าววาจาโดยชอบ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น และการไม่ตกเป็นทาสของเครื่องเสพย์ติดมึนเมาให้โทษต่าง ๆ ย่อมเป็นการป้องกันความเดือดร้อนใจด้วยประการต่าง ๆ ทำให้จิตมีโอกาสอยู่ในสภาวะตั้งมั่นได้มากขึ้น

                ๒. ความขยันขันแข็ง และความีน้ำใจในการช่วยเหลือในกิจการงานเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งเสริมสุขภาพจิต คนบางคนขี้เกียจ พยายามเลี่ยงงาน ไม่มีน้ำใจช่วยเหลือในกิจการงานคนชนิดนี้ย่อมเป็นที่รังเกียจ เป็นที่ซุบซิบนินทาว่าร้ายของผู้อื่นและไม่ได้รับความเมตตาช่วยเหลือตามสมควร อยู่ที่ไหนก็ไม่มีใครชอบ ไม่มีความสุข ตรงข้ามกับคนที่หนักเอาเบาสู้ เต็มใจเข้าช่วยทำการงานต่าง ๆ ทั้งในหน้าที่ของตนเองและทั้งงานของผู้อื่น ย่อมเป็นที่รักใคร่เมตตาของคนทั้งหลาย ส่งเสริมภาวะจิตทั้งของตนเองและของผู้อื่น ให้เป็นไปในทางที่จะได้ประโยชน์สูงขึ้น ความขยันจึงเป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับความสุขความขี้เกียจย่อมนำความทุกข์มาให้

                ๓. การทำให้การทำงานเป็นความสุขเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะมนุษย์ต้องทำงานด้วยความทุกข์ทนหม่นหมอง เบื่อหน่าย รำคาญ หงุดหงิด ย่อมเป็นการบั่นทอนความสุขอย่างร้ายแรง ทำให้การงานไม่ได้ผลดี และชักนำไปสู่ความเดือดร้อนต่าง ๆ เช่น เพื่อนร่วมงาน หรือผู้ที่ได้รับผลจากงานของเราไม่พอใจ ถ้าผู้ใดสามารถทำงานแล้วรู้สึกสนุกและมีความสุขได้ ย่อมได้ประโยชน์มากขึ้น การทำงานด้วยความตั้งใจ ด้วยความประณีตโดยหวังเกื้อกูลผู้อื่น ย่อมก่อไห้เกิดความปีติ ความภูมิใจ และรู้สึกเป็นสุข ไม่ว่าอาชีพหรืองานนั้นจะเป็นอะไร เช่น สอนหนังสือ เป็นหมอ เป็นพยาบาล เป็นกรรมกร ชาวนา หรือทำงานบ้าน ถ้าทำด้วยเจตนาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ย่อมนำความปีติภาคภูมิใจมาสู่ผู้ปฏิบัติ และทำให้สุขภาพดี

                ๔. การออกกำลังกายจนเหงื่อออกพอสมควรเป็นประจำทุกวันทำให้ระบบประสาทคลายความเครียดดังที่กล่าวไว้แล้ว

                ๕. ต้องพยายามอย่ากังวลเรื่องของตัวเราให้มากเกินไป คนที่คิดหรือหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องของตัวเองตลอดเวลา เช่น กลัวจะไม่รวย กลัวจะขาดทุน กลัวจะไม่สวย กลัวคนจะไม่รัก กลัวจะไม่มีชื่อเสียง กลัวคนจะนินทาว่าร้าย กลัวจะเป็นโรคนั้นโรคนี้ย่อมทำให้จิตไม่เป็นสุขและเกิดความเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นจริง ๆ แต่ถ้าตัดความกังวลของตัวเองได้มากเท่าใด จะยิ่งสบายขึ้นเท่านั้นจะมีความสุขและเกิดโรคน้อย ลองมองไปรอบๆ ตัว นึกถึงคนอื่น ๆ จำนวนเป็นหมื่นเป็นล้าน ซึ่งลำบากทุกข์ยากกว่าเรามากมายทำอย่างไรจะช่วยเขาได้ การพยายามจะช่วยเหลือผู้อื่นด้วยประการต่าง ๆ เช่น ไม่เอาเปรียบเขา ไม่ขูดเลือดคนอื่น พูดจาไพเราะ เกื้อกูล ให้ปันสิ่งของ ทำบุญ ทำทาน โดยบริสุทธิ์ใจ เหล่านี้ล้วน เป็นการลดความเห็นแก่ตัว ทำให้จิตคลายความเครียด จิตที่คิดอยากจะได้ จะมีแต่ความเครียด แต่จิตที่คิดจะให้นั้น จะมีความเบาสบาย มีความสุขและเกิดโรคน้อย นั่นแหละคือที่เรียกว่า ได้บุญ หรือได้กุศล

                ๖. การฝึกแผ่ความรัก หรือแผ่เมตตาเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง คนเรานั้นปกติเมตตาตัวเองมากแต่เมตตาผู้อื่นน้อยจะสังเกตว่าไม่ค่อยมีใครโกรธหรือโทษตัวเอง แต่มักจะโกรธและโทษผู้อื่น ขณะที่กำลังโกรธผู้ใดผู้หนึ่งด้วยเรื่องอะไรก็ตาม ลองคิดกลับเสียใหม่ว่า “เอ๊ะนี่อาจจะเป็นเพราะเราเป็นฝ่ายผิดก็ได้นี่น่า” จะพบว่าความโกรธจะลดวูบหรือหายไปทันที เมตตาเป็นเครื่องบำบัดความโกรธและพยาบาทได้ เราต้องฝึกแผ่เมตตาให้ขยายขอบเขตออกไปเรื่อยๆ สัตว์ บุคคลต่าง ๆ ทั้งที่อยู่ต่อหน้าเรา กำลังผ่านเราไป หรืออยู่ที่อื่น ล้วนมีปัญหาดิ้นรนเดือดร้อนด้วยเรื่องสารพัดสารเพ และมีความตายรออยู่ข้างหน้า เช่นเดียวกับเราด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จึงควรตั้งความปรารถนาให้สัตว์และบุคคลเหล่านั้นมีความสุขความเจริญ มีทุกข์น้อย และอย่าเบียดเบียนกัน

                เราไปที่ไหนก็หัดแผ่เมตตาเช่นนี้เป็นประจำ ใจของเราจะสงบ ความหงุดหงิดและความรำคาญนั้นเป็นโทสะหรือความโกรธอ่อน ๆ เมตตาเป็นเครื่องปราบความโกรธ จึงทำให้คลายความหงุดหงิดและรำคาญ จิตของเราขณะที่แผ่เมตตานั้นจะอยู่ในภาวะที่เป็นกุศล เมื่อมีการพูดจาติดต่อกันกับผู้อื่นก็เป็นไปด้วยดี

                ๗. การสวดมนต์ภาวนาตามศาสนาแห่งตน เป็นการบริหารจิตอย่างสูง มนุษย์เรียนรู้ความทุกข์จากการที่จิตฝักใฝ่อยู่แต่ในเรื่องของตนเองมาแต่โบราณกาล จึงเกิดมีการสวดมนต์ขึ้น ในลัทธิและศาสนาต่าง ๆ ถ้าจิตใจจดจ่ออยู่ในคำสวด ก็เป็นการเอาจิตออกจากความจดจ่อในเรื่องของตัวเอง ทำให้จิตสงบที่เรียกว่าสมาธิ คนที่เคยฝึกสมาธิจึงจะทราบว่าความสุขที่เกิดจากสมาธินั้นมากมายเพียงใด เพราะจิตใจเบาสบายอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อนในชีวิตประจำวัน ความสุขจากสมาธินั้น ถ้าฝึกแล้วย่อมหาได้ง่ายไม่เสียเงิน และเป็นความสุขที่เหนือกว่าความสุขอย่างอื่น ๆ จึงน่าจะทดลองปฏิบัติดู การฝึกสมาธิมีวิธีการหลายอย่าง เลือกใช้ได้ตามความถนัดของแต่ละคน วิธีที่นิยมกันมาก ก็คือการกำหนดให้รู้ลมหายใจเข้าออกที่เรียกว่าอานาปานสติ พูดอย่างสั้น ๆ คือหายใจเข้าก็รู้ว่ากำลังหายใจเข้า หายใจออกก็ให้รู้ว่ากำลังหายใจออก ทำช้า ๆ นาน ๆ จนจิตสงบ บางคนก็บริกรรมคำอะไรก็ได้ซ้ำ ๆ เช่น พุทโธ พุทโธ พุทโธ จนจิตสงบ

                ขั้นที่เหนือกว่าสมาธิก็คือการเกิดปัญญา ซึ่งต้องนับว่าเป็นการบริหารหรือการพัฒนาจิตโดยสมบูรณ์ การรู้เท่าทันสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง คือ ไตรลักษณะ อันได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ย่อมเป็นปัญญาอันสูงสุดของมนุษย์ ผู้ที่เจริญสมาธิและปัญญาย่อมมีปัญหาน้อย มีโรคน้อยและอายุยืน


ที่มา 
http://www.rakbankerd.com/
 
   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น