วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วิธีลดความเครียด


วิธีลดความเครียด
 
   เทคนิคแรกก็คือ การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เวลาคนเราเครียดมาก ๆ กล้ามเนื้อจะมีการหดตัว สังเกตเห็นได้จากการที่มีอาการอากัปกิริยาต่าง ๆ ในขณะที่มีความเครียด เช่น หน้านิ่วคิ้วขมวด กำหมัด หรือกัดฟัน เป็นต้น การที่กล้ามเนื้อมีอาการหดเกร็งตัว ร่างกายมักจะรู้สึกปวด เช่น ปวดต้นคอ ปวดหลัง หรือปวดไหล่ เป็นต้น การฝึกการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ จะช่วยให้อาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อลดลง นอกจากนั้นในขณะฝึกจิตใจจะจดจ่อ กับการคลายกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ทำให้ลดการคิดฟุ้งซ่านและวิตกกังวล จิตใจจะมีสมาธิมากขึ้นกว่าเดิมด้วย
ในขณะฝึกให้นั่งในท่าที่สบาย ใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ ถอดรองเท้า หลับตา ทำใจให้ว่าง ตั้งสมาธิอยู่ที่กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ที่ต้องการผ่อนคลาย
ลองมาดูกันบ้างเพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายลองฝึกเกร็งและคลายกล้ามเนื้อ ดังนี้
1. กำมือและเกร็งแขนแล้วผ่อนคลายกล้ามเนื้อ โดยค่อย ๆ คลายมือและกล้ามเนื้อแขนสลับทีละข้ามทั้งซ้ายและขวา
2. เกร็งและผ่อนคลายกล้ามเนื้อหน้าผาก โดยเลิกคิ้วแล้วคลายหรือขมวดคิ้วและคลาย
3. เกร็งและผ่อนคลาย ตา แก้ม จมูล โดยหลับตาแน่น ย่นจมูกแล้วคลาย
4. เกร็งและผ่อนคลาย ขากรรไกร ลิ้น ริมฝีปาก โดยกัดฟันใช้ลิ้นดันเพดานปากแล้วคลาย หรือเม้มปากแน่นแล้วคลาย
5. เกร็งและผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณคอ โดยก้มหน้าให้คางจดคอแล้วคลาย เงยหน้าจนสุดแล้วคลาย
6. เกร็งและผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก ไหล่ และหลังโดยหายใจเข้าลึก ๆ กลั้นไว้แล้วคลายหรือยกไหล่สูง แล้วคลาย
7. เกร็งและผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้องและก้น โดยแขม่วท้องแล้วคลาย หรือขมิบก้นแล้วคลาย
8. เกร็งและผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณเท้าและขาขวา โดยเหยียดขา งอนิ้ว แล้วคลาย หรือเหยียดขากระดกปลายเท้าแล้วคลาย
9. เกร็งและผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณเท้าและขาซ้าย โดยเหยียดขา งอนิ้ว แล้วคลายหรือเหยียดขากระดกปลายเท้าแล้วคลาย


ขณะที่มีการเกร็งกล้ามเนื้อให้ใช้เวลาน้อยกว่าระยะเวลาที่ผ่อนคลาย เช่นเกร็ง 3-5 วินาที แล้วผ่อนคลาย 10-15 วินาที เป็นต้น นอกจากนั้นควรฝึกท่าละประมาณ 8-12 ครั้ง เมื่อทำไปนาน ๆ จนมีความรู้สึกคุ้นเคยกับการผ่อนคลายแล้ว ให้ฝึกคลายกล้ามเนื้อได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องเกร็งก่อน
เทคนิคอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยผ่อนคลายความเครียดได้คือ การฝึกหายใจ ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ เคยสังเกตบ้างไหม ว่า เวลาเครียด ๆ คนเรามักจะหายใจถี่และตื้นมากกว่าปกติ ทำให้ร่างกายได้ออกซิเจนน้อย จึงมีผลให้เกิดอาการถอนหายใจเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ร่างกายได้ออกซิเจนมากขึ้น
ดังนั้นการฝึกหายใจช้า ๆ ลึก ๆ โดยใช้กล้ามเนื้อ กะบังลมบริเวณท้องจะช่วยให้ร่างกายได้อากาศ เข้าสู่ปอดมากขึ้น ทำให้เพิ่มปริมาณออกซิเจนในเลือด และยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อท้อง และลำไส้ การฝึกการหายใจอย่างถูกวิธีจะทำให้หัวใจ เต้นช้าลง สมองแจ่มใส เพราะได้ออกซิเจนมากขึ้น และการหายใจออกอย่างช้า ๆ จะทำให้รู้สึกว่าได้ปลดปล่อยความเครียดออกไปจากตัวจนหมดสิ้น และที่สำคัญก็คือ สมองจะแจ่มใสขึ้น สามารถคิด แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ดีขึ้นกว่าเดิม
ลองมาฝึกกัน โดยนั่งในท่าที่สบาย หลับตา เอามือประสานไว้ที่บริเวณท้อง ค่อย ๆ หายใจเข้า พร้อม ๆ กับนับตัวเลข 1 ถึง 4 เป็นจังหวะช้า ๆ ให้มือรู้สึกว่าท้องพอง กลั้นเป็นจีังหวะหายใจช้า ๆ เช่นเดียวกับเมื่อหายใจเข้า จากนั้นจึงค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจ โดยนับ 1 ถึง 8 อย่างช้า ๆ และพยายามไล่ลมหายใจออกมาให้หมด โดยให้สังเกตหน้าท้องแฟบลง
ทำซ้ำ ๆ กัน 4 - 5 ครั้ง โดยหายใจเข้าช้า ๆ กลั้นไว้แล้วหายใจออก โดยช่วงที่หายใจออกให้นานกว่าช่วงหายใจเข้า
การฝึกหายใจสามารถทำได้ง่าย ๆ ทำได้ทั้งวัดเวลาใดก็ได้ไม่เปลืองเงิน และไม่ต้องใช้สถานที่กว้างขวาง ดังนั้น เวลาเครียดหรือโกรธ ลองทำดูซิครับ จะรู้สึกว่าสบายใจขึ้นจริง ๆ
 
ที่มา http://www.dmsc.moph.go.th/webroot/samutsongkhram/knowledge/s11/s11-4.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น