วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

Body & Mind และวิธีการนั่งสมาธิที่ถูกต้อง


สมาธิคืออะไร??
สมาธิ คือ อาการที่ใจตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวอย่างต่อเนื่อง หรือ อาการที่ใจหยุดนิ่งแน่วแน่ ไม่ซัดส่ายไปมา เป็นอาการที่ใจสงบรวมเป็นหนึ่งแน่วแน่ มีแต่ความบริสุทธิ์ผ่องใส สว่างไสวผุดขึ้นในใจ จนกระทั่งสามารถเห็นความบริสุทธิ์นั้นด้วยใจตนเอง อันจะก่อให้เกิดทั้งกำลังใจ กำลังขวัญ กำลังปัญญา และความสุขแก่ผู้ปฏิบัติในเวลาเดียวกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งในเชิงลักษณะการปฏิบัติ สมาธิ แปลว่า ความตั้งมั่นของจิต หรือภาวะที่จิตแน่วแน่ต่อสิ่งที่กำหนด หรือการที่จิตกำหนดแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน
"สมาธิ" คือ กระบวนเพื่ออบรมบ่มใจให้ดำรงอยู่ในสภาวะอันสงบ สุกใส กว้างใหญ่ เบาสบาย เพื่อให้กลายเป็น ความงาม ของใจ ค่อยๆ ปฏิบัติ ค่อยๆ ทำกันไปวันละเล็กละน้อย เพราะใจคือสิ่งที่ถูกใช้สอยหนักที่สุดกว่าส่วนใดๆ ของร่างกาย การทำสมาธิจึงเป็นการ พัก ใจที่มักเหนื่อยล้ากว่าร่างกาย ให้กลับสดชื่นขึ้นได้ เพื่อชั่วโมงใหม่ เพื่อวันใหม่ที่ดีกว่า
จึงเป็นเรื่องจำเป็น เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เป็นกิจที่บรรพชนของเรา ถือเป็นความสำคัญที่ต้องปฏิบัติไม่ให้ขาดแม้สักวันเดียว เพราะสมาธิเป็นต้นเหตุของใจอันงาม และใจอันงามเป็นทางมาของบุญกุศล เป็นที่อยู่ของศิริมงคล ทำให้ผู้เป็นเจ้าของใจมีชีวิตที่ดีวันดีคืน สมาธิ จึงเป็นสิ่งพึงปฏิบัติสำหรับพุทธศาสนิกชน ตลอดจนบุคคลผู้ปรารถนาความงาม ความสำเร็จในชีวิต
ประโยชน์ของการนั่งสมาธิ
1. ผลต่อตนเอง
1.1 ด้านสุขภาพจิต 
- ส่งเสริมให้คุณภาพของใจดีขึ้น คือ ทำให้จิตใจผ่องใส สะอาด บริสุทธิ์ สงบ เยือกเย็น ปลอดปร่ง โล่ง เบา สบาย มีความจำ และสติปัญญาดีขึ้น
- ส่งเสริมสมรรถภาพทางใจ ทำให้คิดอะไรได้รวดเร็ว ถูกต้อง และเลือกคิดแต่ในสิ่งที่ดีเท่านั้น
1.2 ด้านพัฒนาบุคลิกภาพ
- จะเป็นผู้มีบุคลิกภาพดี กระฉับกระเฉง กระปรี้กระเปร่า มีความองอาจสง่าผ่าเผย ผิวพรรณผ่องใส
- มีความมั่นคงทางอารมณ์ หนักแน่น เยือกเย็น และเชื่อมั่นในตนเอง
- มีมนุษยสัมพันธ์ดี วางตัวได้เหมาะสมกับกาลเทศะ เป็นผู้มีเสน่ห์ เพราะไม่มักโกรธ มีความเมตตากรุณาต่อบุคคลทั่วไป
1.3 ด้านชีวิตประจำวัน
- ช่วยให้คลายเครียด เป็นเครื่องเสริมประสิทธิภาพในการทำงาน และการศึกษาเล่าเรียน
- ช่วยเสริมให้มีสุขภาพแข็งแรง เพราะร่างกายกับจิตใจ ย่อมมีอิทธิพลต่อกัน ถ้าจิตใจเข้มแข็ง ย่อมเป็นภูมิต้านทานโรคไปในตัว
1.4 ด้านศีลธรรมจรรยา
- ย่อมเป็นผู้มีสัมมาทิฐิ สามารถคุ้มครองตนให้พ้นจากความชั่วทั้งหลายได้ เป็นผู้ที่มีความประพฤติดี เนื่องจากจิตใจดี ทำให้ร่างกายประพฤติทางกายและวาจาดีตามไปด้วย
- ย่อมเป็นผู้ที่มีความมักน้อย สันโดษ รักสงบ และมีขันติเป็นเลิศ
- ย่อมเป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ย่อมเป็นผู้มีสัมมาคารวะและมีความอ่อนน้อมถ่อมตน

2. ผลต่อครอบครัว
2.1 ทำให้ครอบครัวมีความสงบสุข เพราะสมาชิกในครอบครัวเห็นประโยชน์ของการประพฤติธรรม ทุกคนตั้งมั่นอยู่ในศีล ปกครองกันด้วยธรรม เด็กเคารพผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เมตตาเด็ก ทุกคนมีความรักใคร่สามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
2.2 ทำให้ครอบครัวมีความเจริญก้าวหน้า เพราะสมาชิกต่างก็ทำหน้าที่ของตนโดยไม่บกพร่อง เป็นผู้ที่มีใจคอหนักแน่น เมื่อมีปัญหาครอบครัวหรือมีอุปสรรคอันใด ย่อมร่วมใจกันแก้ไขปัญหานั้นให้ลุล่วงไปได้

3. ผลต่อสังคมและประเทศชาติ
3.1 ทำให้สังคมสงบสุข ปราศจากปัญหาอาชญากรรม และปัญหาสังคมอื่นๆ เพราะปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการฆ่า การข่มขืน โจรผู้ร้าย การทุจริตคอรัปชั่น ล้วนเกิดขึ้นมาจากคนที่ขาดคุณธรรม เป็นผู้ที่มีจิตใจอ่อนแอหวั่นไหวต่ออำนาจสิ่งยั่วยวนหรือกิเลสได้ง่าย ผู้ที่ฝึกสมาธิย่อมมีจิตใจเข้มแข็ง มีคุณธรรมในใจสูง ถ้าแต่ละคนในสังคมต่างฝึกฝนอบรมใจของตนให้หนักแน่น มั่นคง ปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น ส่งผลให้สังคมสงบสุขได้
3.2 ทำให้เกิดความมีระเบียบวินัย และเกิดความประหยัด ผู้ที่ฝึกใจให้ดีงามด้วยการทำสมาธิอยู่เสมอ ย่อมเป็นผู้รักความมีระเบียบวินัย รักความสะอาด มีความเคารพกฎหมายบ้านเมือง ดังนั้นบ้านเมืองเราก็จะสะอาดน่าอยู่ ไม่มีคนมักง่ายทิ้งขยะบนพื้นถนน จะข้ามถนน ก็เฉพาะตรงทางข้าม เป็นต้น เป็นเหตุให้ประเทศชาติไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณ เวลา และกำลังเจ้าหน้าที่ ที่จะไปใช้สำหรับแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากความไม่มีระเบียบวินัยของประชาชน
3.3 ทำให้สังคมเจริญก้าวหน้า เมื่อสมาชิกในสังคม มีสุขภาพจิตดี รักความเจริญก้าวหน้า มีประสิทธิภาพในการทำงานสูง ย่อมส่งผลให้สังคมเจริญก้าวหน้าตามไปด้วย และเมื่อมีกิจกรรมส่วนรวม สมาชิกในสังคมก็ย่อมพร้อมที่จะสละความสุขส่วนตน ให้ความร่วมมือกับส่วนรวมอย่างเต็มที่ และถ้ามีผู้ไม่ประสงค์ดีต่อสังคม จะมายุแหย่ให้เกิดความแตกแยกก็จะไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะสมาชิกในสังคมเป็นผู้มีจิตใจหนักแน่น มีเหตุผลและเป็นผู้รักสงบ
4. ผลต่อศาสนา
4.1 ทำให้เข้าใจพระพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้อง และรู้ซึ้งถึงคุณค่าของพระพุทธศาสนา รวมทั้งรู้เห็นด้วยตัวเองว่ามีการฝึกสมาธิไม่ใช่เรื่องเหลวไหล หากแต่เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้พ้นทุกข์เข้าสู่นิพพานได้
4.2 ทำให้เกิดศรัทธาตั้งมั่นในพระรัตนตรัย พร้อมที่จะเป็นทนายแก้ต่างให้กับพระศาสนา อันเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่การปฏิบัติธรรม ที่ถูกต้องให้แพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง
4.3 เป็นการสืบอายุพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองตลอดไป เพราะตราบใดที่พุทธศาสนิกชนยังสนใจปฏิบัติธรรมเจริญภาวนาอยู่ พระพุทธศาสนาก็จะเจริญรุ่งเรืองอยู่ตราบนั้น
4.4 จะเป็นกำลังส่งเสริมทะนุบำรุงศาสนา โดยเมื่อเข้าใจซาบซื้งถึงประโยชน์ของการปฏิบัติธรรมด้วยตนเองแล้ว ย่อมจะชักชวนผู้อื่นให้ทำทานรักษาศีล เจริญภาวนาตามไปด้วย และเมื่อใดที่ทุกคนในสังคมตั้งใจปฏิบัติธรรมทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา เมื่อนั้นย่อมเป็นที่หวังได้ว่าเป็นสันติสุขที่แท้จริงก็จะบังเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
สำหรับผู้ที่จะเริ่มนั่งสมาธิ ต้องมาทำความเข้าใจกับ ทางสายกลางและผังของที่ตั้งจิตทั้ง7ฐานกันก่อนนะครับ
ทางสายกลาง
ทางสายกลาง หรือ มัชฌิมมรรค เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ที่พุทธศาสนิกชนทุกคนต้องเคยได้ยิน รู้จัก และเข้าใจ ไปตามสภาพของความใกล้ชิด ความสนใจที่ตนมีต่อพระพุทธศาสนา มัชฌิมมรรค หรือ ทางสายกลาง เป็นสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าถือว่าสำคัญที่สุด เพราะเป็นหนทางแห่งการเข้าถึงธรรม การตรัสรู้ธรรม เป็นหนทางที่เชื่อมต่อมนุษย์ สวรรค์ และพระนิพพานเข้าไว้ด้วยกันด้วยวิถีของใจ
หนทางสายกลางนี้ ในสมัยต้นๆ มักถูกเรียกว่า "เอกายนมรรค" คือ หนทางสายเอก หรือหนทางสายเดียว แปลไทยเป็นไทยให้เข้าใจมากขึ้น คือ เป็นวิธีการเดียวเท่านั้นในอันที่จะนำพาผู้คนไปสู่สวรรค์และนิพพานได้ ด้วยการปฏิบัติสมาธิฝึกใจ เดินใจเข้าไปในหนทางสายกลาง เริ่มต้น หรือ ตั้งต้นที่จุดศูนย์กลางกายของตน ซึ่งหมายความว่ามนุษย์ทุกคนสามารถเชื่อมต่อตนเองกับสวรรค์และนิพพานได้ด้วยการวางใจ หยุดใจไว้ที่จุดศูนย์กลางกายของตน เพราะ ณ ศูนย์กลางกายของตนนั่นแหละ คือปากประตูที่พร้อมเปิดเข้าสู่หนทางสายกลาง
หนทางสายกลางเริ่มต้นที่ศูนย์กลางกาย แต่การดำเนินใจ หรือพาใจที่มีปกติวิ่งว่ายไม่หยุดนิ่ง ชอบอยู่แต่ภายนอก ไม่ชอบอยู่ภายใน
คือ ธรรมชาติของใจมักเคลื่อนไป วิ่งไปเลื่อนลอยไปกับสิ่งต่างๆ กับเหตุการณ์ต่างๆ รอบตัว ใจจึงไม่อยู่กับตัว ชอบเล่นหัวไปเรื่อยตามเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา
การทำสมาธิ
ณ จุดนี้ ผู้ที่ปรารถนาจะนั่งสมาธิด้วยตนเองที่บ้าน ก็สามารถปฎิบัติตามได้ ด้วยการน้อมนำใจเข้าสู่ภายใน ตามเส้นทางของเอกายนมรรค ซึ่งเป็นขั้นตอนง่ายๆ ดังต่อไปนี้
การนำใจเข้าสู่ภายในนี้ พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) หรือ หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ ได้เมตตาแสดงอรรถาธิบายไว้ชัดเจน ทั้งหนทางการเดินของใจสู่ศูนย์กลาง และเทคนิคการนำใจเข้าสู่ภายใน
ก่อนอื่นจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คนพุทธ คนไทย คนในซีกโลกตะวันออกของเรา มีความเชื่อดั้งเดิมแต่เก่าก่อนนานมาว่า "ใจ" หรือดวงจิตดั้งเดิมของคน นั้นมีสภาพกลมใส เป็นดวงใส คล้ายดวงแก้ว หรือที่เรียกว่ากันว่า "จินตมณ"
พระเดชพระคุณหลวงปู่ได้เมตตาชี้แจงถึงวิธีการนำใจเข้าสู่ภายใน เพื่อไปหยุดอยู่ ณ ศูนย์กลางกายไว้ดังนี้

ให้สมมตินึกน้อมใจ คือ ดวงแก้วใส ที่วิ่งว่ายอยู่ภายนอกให้มาหยุดอยู่ ณ ปากช่องจมูก หญิงข้างซ้าย ชายข้างขวา

แล้วค่อยนึกน้อมให้ใจ คือ ดวงแก้วใส นั้นให้ค่อยๆ เคลื่อนเข้าไปตามเส้นทางที่มีฐานอยู่ ๗ จุด ให้พักใจนิ่ง เป็นระยะๆ ไป จนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง คือ จุดศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด ดังภาพ

เทคนิคที่หลวงปู่แนะนำให้อยู่ตรงบริเวณหัวตา (จุดที่น้ำตาไหล) หญิงข้างซ้าย ชายข้างขวา เมื่อน้อมใจ คือ ดวงแก้วใส ให้มาอยู่ตรงหัวตาแล้วให้ทำตาเหลือกขึ้นไปข้างบน ประดุจจะกลับการเห็นจากภายนอกเข้าสู่ภายใน แล้วจึงดำเนินใจเรื่อยไปจนกระทั่งถึงศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด ถือเป็นอันว่าเราได้นำใจไปวางไว้ ณ ศูนย์กลางกายเรียบร้อย จากนั้น ที่ควรกระทำต่อไป คือ นึกถึงดวงใจ คือ ดวงแก้วใส ว่าตั้งอยู่ ณ ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด ให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
นี่คือหลักการนั่งสมาธิที่ถูกวิธีนะครับ สำหรับใครที่อยากจะหาที่สงบๆล่ะก็ลองใช้วิธีนี้ดูนะครับ รับรองว่าสุขทั้งกาย สบายทั้งใจครับ
ข้อมูลจาก www.dmc.tv ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น